การฉลุและต่อประกอบเครื่องประดับ

การฉลุและต่อประกอบเครื่องประดับ

การทำเครื่องประดับ ด้วยวิธีฉลุ

     วิธีที่ใช้ในการทำเครื่องประดับมีหลายวิธี วิธีที่ใช้กันแพร่หลายและสามารถทำใช้ได้ไม่ยุ่งยากนักได้แก่ วิธีฉลุ วิธีบัดกรี วิธีหล่อโดยใช้แม่พิมพ์จากปูนพลาสเตอร์และจากถ่าน เป็นต้น
     วิธีฉลุเป็นขั้นเริ่มต้นของการทำเครื่องประดับโดยใช้วัสดุที่เป็นโลหะ วิธีนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นเริ่มต้น ของการทำ เครื่องประดับอย่างง่ายๆ การออกแบบเครื่องประดับแบบฉลุนี้ ควรเลือกเอาลวดลายที่โปร่ง เห็นความเด่นชัดของรูป และพื้นลาย ระหว่างลวดลาย และพื้นต้องมีความสัมพันธ์กัน การออกแบบ ผู้ออกแบบต้องตั้งจุดหมายไว้ก่อน ว่าจะให้เครื่องประดับนั้น เป็นอะไร ใช้สำหรับประดับส่วนไหนของร่างกาย หลังจากกำหนดได้แล้วจึงเริ่มออกแบบ
วิธีทำเครื่องประดับ ด้วยวิธีฉลุ      -    กำหนดลักษณะงานที่ออกแบบว่าจะทำเป็นเครื่องประดับอย่างไร เช่น เข็มกลัด จี้ห้อยคอ หนืรสร้อยข้อมือ
     -    ออกแบบลวดลายให้โปร่ง คำนึงถึงความสัมพันธ์ของรูปทรงและลวดลายทั้งหมด ควรลงสีน้ำหนักแตกต่างระหว่างรูป และลวดลายอย่างชัดเจน ถ้าจะฉลุเฉพาะโครงสร้างรอบนอก ไม่เน้นลวดลายภายใน ควรให้รูปทรงมีความสัมพันธ์ กับพื้นที่ ว่างให้มาก
     -    ลอกลายทั้งหมดด้วยกระดาษลอกลาย ใส่น้ำหนักดำขาวระหว่างรูปและพื้นที่ให้ชัดเจน
     -    นำแผ่นกระดาษลอกลาย ปะติดบนแผ่นโลหะ ใช้กาวยางน้ำทาปะติด จะใช้กาวชนิดอื่นก็ได้ แต่กาวยางน้ำจะลอกออกง่าย กว่ากาวชนิดอื่น
     -    เจาะรูลวดลายด้วยสว่านมือ และใส่ใบเลื่อยในรูที่เจาะ ฉลุลวดลายภายในให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเลื่อยฉลุโครงรอบนอก
     -    ขัดผิวโลหะด้วยกระดาษทรายน้ำ ตามลำดับจากหยาบไปหาละเอียด และขัดด้วยกระดาษขัดเงา หลังจากขัดด้วยกระดาษ ขัดเงาแล้ว ให้ขัดซ้ำด้วยยาดินเหลืองและยาดินแดง ใช้เครื่องขัดไฟฟ้า และหัวขัดสักหลาดขัดจนผิวโลหะขึ้นเงา
     -    ขัดขอบโลหะด้วนตะไบและกระดาษทรายน้ำจนกว่าจะเรียบ
     ใช้เครื่องมือต่างๆ ตามที่บอกไว้ในหัวข้อการใช้เครื่องมือฉลุ สำหรับวิธีขัด ให้ดูรายละเอียดการขัด ตามขั้นตอนของ ขบวนการขัดโลหะ หลังจากที่ขัดเสร็จแล้ว ถ้าทำเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ จะต้องนำไปบัดกรีติดกับเข็มกลัด หลังจากบัดกรีแล้ว ล้างให้สะอาดด้วยน้ำส้มมะขาม หรือน้ำยาล้างโลหะ ถ้าใช้น้ำส้มมะขามล้าง ก่อนจะบัดกรี ให้ทาบรัลโซเคลือบก่อน หลังจาก ทำความสะอาดแล้ว นำไปขัดด้วยเครื่องขัดอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่ควรระวังในการ ฉลุโลหะ
     -    ลวดลายที่ฉลุต้องชัดเจนไม่ลบเลือนได้ง่าย
     -    ติดลวดลายกระดาษกับแผ่นโลหะให้แน่นสนิท ก่อนที่จะนำมาฉลุต้องรอให้กาวแห้งสนิทจะได้ไม่หลุดง่าย การที่ลายหลุด จะทำให้ได้ลายที่ไม่ชัดเจน เป็นผลให้รอยฉลุไม่ตรงกับลาย
     -    ใช้สว่านเจาะนำก่อนใส่ใบเลื่อยทุกครั้ง อย่าใช้ตะปูตอกนำ ขณะเปลี่ยนใบเลื่อย เลื่อนแผ่นโลหะไว้ด้านบนสุด ตั้งแนว คันเลื่อยในท่านอน
     -   ถ้าใบเลื่อยฝืด ใช้ขี้ผึ้งทา จะช่วยให้ใบเลื่อยลื่นได้
การทำเครื่องประดับ ด้วยวิธีต่อประกอบ
     วิธีต่อประกอบ เป็นที่นิยมมากสำหรีบงานเครื่องประดับประเภทสร้อยคอและสร้อยข้อมือ วิธนี้ไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก การต่อประกอบ มีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีขึ้นอยู่กับแบบของเครื่องประดับเป็นสำคัญ
     1. วิธีเรียงต่อกันโดยใช้ห่วงเป็นตัวเชื่อม การใช้ห่วงเชื่อมมีหลายแบบ เช่น ห่วงที่มีขนาดเท่าๆ กันมาร้อยเรียงต่อกัน หรือใช้โลหะในตัวเองพับเป็นห่วงเกี่ยวต่อกัน
     2. วิธีเรียงต่อกันโดยใช้เดือยเป็นแกนกลาง วิธีนี้การยืดหยุ่นทิ้งตัวมีน้อยกว่าการใช้ห่วงต่อประกอบ แต่มีความมั่นคง แข็งแรง มากกว่า มีทั้งทำเป็นสลักเปิดปิดได้ และทำเป็นสลักปิดตาย สำหรับสลักปิดตาย นิยมใช้โลหะเป็นหมุดสอด ใส่รูที่เจาะไว้ใส่หมุด ลงไป และตอกให้ปลายหมุดบาน ปิดหัวท้าย ไม่ให้หมุดเลื่อนขึ้นลงได้
     3. วิธีใช้เส้นหลักเป็นแกนกลาง วิธีนี้ใช้กันมาก เป็นวิธีที่ง่ายและใช้กันแพร่หลาย เช่น การร้อยลูกปัด หรือการร้อยไข่มุก เป็นต้น สิ่งของที่จะนำมาร้อยจะต้องเจาะรูกลางเสียก่อน
     4. วิธีเรียงต่อกัน โดยใช้วิธีพับเม้ม วิธีนี้เป็นวิธีตัดโลหะ หรือเจาะโลหะทั้งสองชิ้น ให้มีความแตกต่างกัน แล้วนำมาเกี่ยวต่อ ประกอบกัน ให้ยึดเหนี่ยวกัน และกันโดยใช้ค้อนหรือคีมดัดให้งอ
     5. วิธีต่อประกอบด้วยใช้หมุดตรึง วิธีนี้ใช้โลหะสองชิ้นมาต่อกัน โดยใช้ตะปูหรือหมุดตอกทีเดียว หรืออาจจะใช้สว่านมือ เจาะนำก่อนก็ได้ วิธีนี้มีทั้งชนิดที่ตอกติดตายกับเปิดปิดได้ วิธีเปิดปิดได้หัวหมุดจะบานพอที่จะเกาะอีกชิ้นหนึ่งได้
วิธีทำห่วงและชักเส้น โลหะ
     ห่วงใช้มากในการทำเครื่องประดับเป็นที่ใส่ตะขอ   เป็นส่วนประกอบให้แบบสมบูรณ์ขึ้น   ขนาดของห่วง ขึ้นอยู่กับ ความจำเป็น ด้านใช้สอยของเครื่องประดับนั้น ๆ  วิธีทำห่วงทำได้ดังนี้
     ใส่เส้นลวดเงินหรือโลหะอื่น ๆ  ที่ชักเป็นเส้นแล้ว   พันรอบสิ่งที่เป็นแท่งวงกลม   ใช้คีมช่วยจับพันขอแต่ละข้อที่เรียงต่อ ๆ กันให้แน่น  ใช้ใบเลื่อย   เลื่อยวงกลมที่พันเป็นวงกลมขดติด ๆ กัน  ให้ขาดออกจากกัน   จะได้ห่วงตามต้องการ ถ้าไม่มีโลหะ ที่เป็นเส้นลวดสำเร็จรูปอยู่แล้ว จะทำเส้นลวดโลหะขึ้นใช้เองก็ได้ วิธีทำง่ายๆ คือ สอดโลหะใส่เข้าไปในรูของแผ่นชักเส้นลวด ใชัคีบจับดึงเส้นโลหะนั้นออกมา ถ้ายังไม่ได้ขนาดที่ต้องการ ก็ใส่โลหะเข้าไปที่เดิมอีก ทำเช่นเดียวกันนี้ จนได้ขนาดของเส้นลวด ตามที่ต้องการ
วิธีดัดและเคาะทุบโลหะ ขึ้นรูป
     การทำโลหะให้เป็นรูปด้วยวิธีเคาะ วิธีทุบ หรือวิธีดัดนี้ จะใช้ในกรณีดัดแปลงรูปทรงให้โค้ง งอ นูน หรือเป็นผิวที่แตกต่างกัน โลหะที่จะนำมาดัด หรือทุบจะต้องหลอมด้วยความร้อนให้อ่อนตัวก่อน
เครื่องมือและอุปกรณ์ดัดและเคาะทุบโลหะ
     -     ค้อนเล็กขนาดต่างๆ
     -    ทั้งเหล็ก
     -    แม่พิมพ์เบ้าเหล็กชนิดเป็นหลุมขนาดต่างๆ
     -    เครื่องบีดกรีให้ความร้อน
การทำโลหะด้วยวิธีดัดที่นิยมแพร่หลาย ได้แก่
     -    ดัดโดยใช้ความร้อนเผาโลหะ แล้วนำมาดัดด้วยเครื่องมือ เช่น คีมดัด ให้โค้งงอตามรูปร่างที่ต้องการ
     -    ดัดโดยใช้ความร้อนเผาโลหะ แล้วนำไปวางบนแผ่นเบ้าพิมพ์ใช้ค้อนค่อยๆ ตอกทีละน้อยจนได้รูปที่ต้องการ
    สเก็ตช์ภาพเครื่องประดับไว้ก่อน   ให้ขนาดภาพสเก็ตช์เท่ากับของจริง และนำโลหะที่จะทำมาดัด   ฉลุให้เท่ากับของจริง ตามแบบ   นำโลหะมาดัดโดยใช้ค้อนทุบเคาะให้โค้งตามแบบหุ่น   หุ่นที่วางโลหะจะเป็นทั่งเหล็ก   ช่วยในการเคาะขึ้นรูปได้ นำไปเผาด้วยความร้อนให้โลหะอ่อนตัว ก่อนที่จะนำไปทุบดัดโค้งมาก ๆ   หลังจากเผาให้ความร้อนแล้ว   นำไปแซ่ในน้ำเย็น ให้โลหะที่เผาเย็นลงก่อนที่จะทำขั้นต่อไป
     การทำเครื่องประดับด้วยการดัด หรือเคาะให้ได้รูปทรงจะต้องออกแบบสองลักษณะ   คือ ออกแบบทั้งที่เมื่อดัดได้รูปทรงแล้ว และออกแบบเป็นภาพคลี่ในลักษณะที่ยังไม่ได้ดัด   และควรใช้กระดาษลองตัดตามแบบที่ได้ออกแบบไว้จริง ๆ  เพื่อจะได้รู้ปัญหา ที่แท้จริงของแบบที่กำหนดไว้
      การทุบเคาะโลหะให้เกิดเป็นรอย แสดงให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างผิวเรียบและผิวขรุขระได้อย่างชัดเจน เครื่องประดับที่เกิดจากการทุบเคาะ มักจะมีความหนาแน่น มีความแข็งแรงกว่าเครื่องประดับต่อประกอบแบบร้อยเรียงกัน


ที่มา: จากหนังสือ "ศิลปะเครื่องประดับ" โดย วรรณรัตน์ อินทร์อ่ำ
แหล่งที่มา : www.patchra.net