วัสดุเครื่องประดับ

วัสดุเครื่องประดับ
แนวคิดสำหรับการออกแบบ เครื่องประดับ
     แนวคิดที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบเครื่องประดับขั้นพื้นฐาน
      -    พื้นฐานความงามทางศิลปะด้านการออกแบบ
      -    ความเรียบง่ายของรูปทรงและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง
      -    ความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านการออกแบบและวัสดุ
      -    เทคนิคทางการผลิตที่ไม่ซ้ำของเดิม
      -    รักษาคุณสมบัติของโลหะ หิน และวัสดุดอื่นๆ
การเลือกวัสดุมาใช้ทำเครื่องประดับ
     ถ้าคิดในด้านประโยชน์อย่างจริงจังแล้ว เครื่องประดับดูจะให้ประโยชน์น้อย แต่มีประโยชน์โดยตรงด้านความสวยงาม และความสุขทางใจให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้นวัสดุที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักจะใช้สิ่งของที่มีความสวยงามหรือมีราคา แพง แต่สิ่งของที่สวยงามบางครั้งราคาไม่แพง หรืออายุไม่คงทน สิ่งของที่มีราคาแพงเป็นสิ่งของที่มีอายุการใช้งานยืนนาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกวัสดุ ช่างทำเครื่องประดับจะเลือกหิน หรือโลหะที่มีราคาแพง ไม่เปลี่ยนสภาพได้ง่าย เช่น หินที่มีอายุ การตกผลึกนาน ได้แก่ เพชร บุษราคัม โกเมน ทับทิม มรกต พลอยสีต่างๆ เป็นต้น ในบรรดาหินทั้งหลาย เพชรจะมีราคาแพงที่สุด ทั้งนี้เมื่อทำการเจียระไนแล้ว มีความสวยงาม เมื่อกระทบกับแสงไฟ หรือแสงสว่างจะเกิดเป็นประกายแสงวูบวาบชวนมอง นอกจากหินดังกล่าวแล้วยัง ใช้โลหะมาผสมทำเป็นเครื่องประดับได้อีกด้วย โลหะที่นิยมและราคาแพงมาก ได้แก่ ทองคำ นาก เงิน โลหะที่เกิดจากการผสมทางวิทยาศาสตร์ และจัดว่าเป็นโลหะที่มีราคาสูงมากเช่นกัน ได้แก่ ทองคำขาว ส่วนโลหะที่นำมา ใช้เป็นส่วนผสมทำเทียมโลหะอื่นๆ และมีราคาไม่สูง ได้แก่ ทองเหลือง อะลูมิเนียม เป็นต้น
     การเลือกโลหะมาใช้ทำเครื่องประดับ นักออกแบบจะพิจารณาโลหะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติก่อน และให้ราคาสูงมากกว่า โลหะอื่น ๆ   และถ้าโลหะที่ทำเทียมชนิดใด   มีส่วนผสมของ  ทองคำ  นาก   หรือเงินแล้ว   จะมีราคาสูงขึ้นอีก
     ในปัจจุบันนี้ ค่านิยมในการเลือกวัสดุมาใช้ทำเครื่องประดับเปลี่ยนไปมาก ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า มีการสังเคราะห์วัสดุต่าง ๆ   ขึ้นใช้   บางครั้งเลียนแบบของจริงจนใกล้เคียง   เกือบจะดูไม่ออก   ต้องใช้เครื่องมือกล้องขยาย และความชำนาญพิเศษในการพิจารณาจึงจะรู้ได้ เช่น  เพชรรัสเซีย  ทับทิมอัด   มรกตอัด  และหินอัด   ชนิดอื่น ๆ  อีกมาก แต่เครื่องประดับที่ทำปลอมเหล่านี้   จะมีราคาถูกกว่าของจริงมาก   และมีอายุการใช้งานไม่นานเท่าของจริง   ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครื่องประดับแพร่หลายไปสู่ชนชั้นกลาง   และสามัญชนมากขึ้น   และในขณะเดียวกัน นักออกแบบก็มุ่ง มาสู่วัสดุที่ไม่มีราคามากขึ้น เช่น การทำเครื่องประดับจากกระดูกสัตว์ จากผิวไม้ เปลือกไม้ จากขนสัตว์ จากพลาสติก จากเมล็ดพืช ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และค่านิยม หรือรสนิยมที่เปลี่ยนไป การใช้วัสดุราคาถูก ทำให้ต้นทุน การผลิตถูก

การออกแบบให้สัมพันธ์ กับวัสดุ
     การเลือกวัสดุมาใช้ให้สัมพันธ์กับการออกแบบ เป็นปัญหาสำคัญมากสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการออกแบบ และการทำเครื่องประดับมาก่อน ดังนั้นจึงขอให้พิจารณาจากข้อเสนอแนะต่อไปนี้
     1. พิจารณาจากวัสดุที่มีอยู่ก่อนเป็นสำคัญ เช่น จากหินสีอะไร รูปทรงแบบใด โลหะชนิด และสีอะไร เป็นต้น
     2. ออกแบบให้สัมพันธ์กับวัสดุที่มีอยู่ การออกแบบควรเริ่มจากสเก็ตช์ง่าย ๆ  ก่อน   และเมื่อได้แบบที่ดีแล้วจึงเขียนแบบจริง
     3. พิจารณาถึงกระบวนการผลิตเป็นอันดับสุดท้าย ว่าจะมีขั้นตอนการผลิตอย่างไร
     ถ้าออกแบบไว้ก่อน แล้วหาวัสดุที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับแบบก็ได้ แต่ที่ไม่นิยมเพราะการหาวัสดุให้ตรงกับแบบ เป็นเรื่อง ยุ่งยาก และเสียเวลากว่าจะหาวัสดุได้เหมือนกับแบบ การเตรียมวัสดุ เช่น หิน โลหะ หรือวัสดุอื่นๆ ไว้ก่อน แล้วจึงออกแบบ ให้สัมพันธ์กับวัสดุ จึงเป็นวิธีที่นิยมและสะดวกกว่า

การเลือกโลหะและหิน
     วิธีเลือกโลหะ   ควรเลือกโลหะชนิดที่มีความแข็ง และทรงตัวได้ดี   ไม่เปลี่ยนสีเมื่อสัมผัสกับเหงื่อห รือผิว  เวลารีดโลหะ เป็นแผ่นบาง ควรคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยไม่ควรให้บางมากเกินไป เพราะถ้ารีดโลหะให้บาง จะทำให้แผ่นโลหะ ไม่อยู่ตัว โลหะที่เหมาะจะนำมาใช้ทำเครื่องประดับ ได้แก่ ทองคำ นาก เงิน ทองแดง ทองเหลือง ทองเค ทองขาว ทองคำขาว เป็นต้น   ราคาของโลหะจะขึ้นอยู่กับความนิยม   และสภาวะทางเศรษฐกิจในยุคนั้น ๆ  วัสดุที่หายาก ที่ไม่แพร่หลาย จะเป็นวัสดุ ที่มีราคาแพงเช่นเดียวกับวัสดุที่นิยมแพร่หลาย
     หินที่มีราคาเป็นที่นิยมใช้ในการทำเครื่องประดับ ได้แก่ เพชร พลอย หินสี ราคาของเพชรขึ้นอยู่กับขนาดและการเจียระไน ส่วนราคาของหินขึ้นอยู่กับความนิยม วัสดุอื่นๆ ก็นำมาใช้ในการทำเครื่องประดับได้ เช่น เปลือกไม้ ผิวไม้ แผ่นไม้ กระดูกสัตว์ งาช้าง เมล็ดพืช พลาสติก เป็นต้น
     วัยรุ่นเป็นวัยที่เหมาะสมกับเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุราคาถูก ดังนั้นเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุราคาถูก จึงมีรูปแบบใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามรสนิยม และแบบเครื่องประดับจะเป็นแบบใช้ในเวลากลางวัน ใช้ได้ทั้งเครื่องแต่งกายแบบกางเกง หรือ กระโปรง การออกแบบที่ดีจะช่วยให้เครื่องประดับนั้นมีราคา มีคุณค่าเพิ่มขึ้น

การเลือกวัสดุให้ สัมพันธ์กับแบบ      วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องประดับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทถาวร และประเภทไม่ถาวร
     วัสดุประเภทถาวร ได้แก่ โลหะทุกชนิด เช่น ทองคำ ทองคำขาว เงิน ทองแดง ทองเหลือง อะลูมิเนียม หินต่างๆ เช่น เพชร มรกต ทับทิม โกเมน และพลอยต่างๆ ตลอดจนวัสดุที่หายาก เช่น งาช้าง
     วัสดุประเภทไม่ถาวร ได้แก่ วัสดุประเภทไม้ เมล็ดพืช พลาสติก และวัสดุอื่นๆ ที่แตกหัก ชำรุดเสียหายได้ง่าย

การเลือกวัสดุมาใช้ทำเครื่อง ประดับต้องพิจารณา คือ
     1. การออกแบบ เหมาะสมกลมกลืนกันโดยสภาพส่วนรวมทั้งหมด
     2. ประโยชน์ใช้สอย โดยเน้นว่าเครื่องประดับนั้นจะใช้ในเวลาใด เช่น เวลากลางคืนควรเลือกหิน หรือโลหะที่มีแสงเป็นประกาย รับแสงไฟ
     3.   กระบวนการผลิตที่สัมพันธ์กับการออกแบบและประโยชน์ใช้สอย
     4.  การบำรุงรักษา สะดวก ง่าย และรวดเร็ว ไม่ยุ่งยากเกินความจำเป็น

แหล่งที่มา : www.patchra.net